ค้นเจอ 213 รายการ

บิด

หมายถึงก. หมุนให้เป็นเกลียวอย่างบิดผ้า, หมุนไปทางใดทางหนึ่ง เช่น บิดลูกบิด; เผล้ไปจากสภาพปรกติ เช่น ล้อรถบิด, ทำให้ผิดไปจากสภาพความจริง เช่น บิดข้อความ; หลีกเลี่ยงเพราะความเกียจคร้านเป็นต้น เช่น บิดงาน บิดการ, เอานิ้วมือบีบเนื้ออย่างแรงทำนองแหนบแล้วหมุน เช่น บิดเนื้อ บิดหู; กิริยาที่ปลากัดปลาเข็มเอาปากต่อปากกัดกันจนติดแล้วกลับตัวไปมา. น. ลักษณนามเรียกอาการที่ปลากัดปลาเข็มเอาปากต่อปากกัดกันแล้วกลับตัวไปมาเช่นนั้นแต่ละยกว่า บิดหนึ่ง ๒ บิด.

บรรทัด

หมายถึง[บัน-] น. ข้อความที่เขียนหรือพิมพ์เป็นต้นต่อเนื่องกันเป็นแถวเป็นแนวแต่ละแนว เช่น ตัดบรรทัดที่ ๒๐ ออก, ลักษณนามว่า บรรทัด เช่น ให้เขียนเรียงความอย่างน้อย ๕๐ บรรทัด, เรียกตัวหนังสือที่เขียนเต็มช่วงระหว่างเส้นบรรทัด ๒ เส้นว่า ตัวเต็มบรรทัด, เรียกตัวหนังสือที่เขียนเพียงครึ่งหนึ่งของช่วงระหว่างเส้นบรรทัด ๒ เส้นว่า ตัวครึ่งบรรทัด, เรียกอุปกรณ์การเขียนชนิดหนึ่งทำด้วยไม้เป็นต้น สำหรับทาบเป็นแนวเพื่อขีดเส้นให้ตรง ว่า ไม้บรรทัด, เรียกเส้นที่ตีหรือพิมพ์ไว้บนกระดาษเป็นต้นเพื่อเขียนหรือพิมพ์ตัวอักษรบนเส้น ใต้เส้น หรือระหว่างเส้น ว่า เส้นบรรทัด.

ดวง

หมายถึงน. คำเรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นรูปกลม ๆ หรือที่เห็นเป็นวง ๆ เช่น ดวงดาว ดวงไฟ ดวงตรา ดวงกสิณ, และบางสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น ดวงชีวิต ดวงวิญญาณ; ลักษณนามเรียก จิต วิญญาณ หรือสิ่งที่มีแสงสว่าง เช่น ดาว ไฟฟ้า ตะเกียง ว่า ดวง; ใช้ประกอบคำอื่นเป็นคำเปรียบเทียบ เช่น ดวงใจ ดวงตา ดวงสมร หมายความถึงสิ่งที่เป็นที่รักยิ่ง หญิงที่รัก หรือ ลูกที่รัก; แบบรูปราศีที่บอกดาวพระเคราะห์เดินถึงราศีนั้น ๆ ในเวลาเกิดของคนหรือเวลาสร้างสิ่งสำคัญ เช่นบ้านเมืองเป็นต้นที่โหรคำนวณไว้โดยแบ่งเป็น ๑๒ ราศี เรียกว่า ดวง ซึ่งเป็นคำตัดมาจาก ดวงชะตา.

กลม

หมายถึง[กฺลม] ลักษณนามเรียกจำนวนเหล้าบางประเภทที่บรรจุในภาชนะกลม ส่วนมากเป็นขวด เช่น เหล้ากลมหนึ่ง เหล้า ๒ กลม. ว. มีสัณฐานโดยรอบไม่เป็นเหลี่ยม, ถ้าเหมือนลูกหิน เรียกว่า ลูกกลม, ถ้าเหมือนเส้นที่ลากเป็นวงมาจดกัน โดยมีเส้นรัศมียาวเท่ากัน เรียกว่า วงกลม, ถ้าเหมือนสตางค์ เรียกว่า กลมแบน, ถ้าเหมือนกระบอกไม้ไผ่ เรียกว่า กลมยาว, ถ้าเหมือนลูกไข่ แต่หัวและท้ายเท่ากัน เรียกว่า กลมรี; (ปาก) อ้วน เช่น เขามีสุขภาพดีขึ้นจนดูกลมไปทั้งตัว; (กลอน) โดยปริยายว่า เรียบร้อยดี เช่น ใจพระลออยู่บมิกลม. (ลอ); กลิ้งกลอกเต็มตัว เช่น คนกลมดั่งน้ำกลอกใบบัว.

แว่น

หมายถึงน. สิ่งที่เป็นแผ่นเป็นวงหรือเป็นดวง เช่น หั่นมะเขือเทศให้เป็นแว่น, ใช้แก่สิ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น อาจจะมีคำอื่นมาขยาย และเรียกชื่อตามหน้าที่ตามความหมาย หรือตามลักษณะของสิ่งนั้น ๆ เช่น แว่นแคว้น แว่นส่องหน้า; (ถิ่น-อีสาน) กระจก; เครื่องโรยขนมจีนเป็นแผ่นกลม ทำด้วยทองเหลืองหรือทองแดงเป็นต้นที่เจาะรูทั่วแผ่น เย็บติดไว้ตรงกลางผ้าสี่เหลี่ยมซึ่งเจาะรูให้พอเหมาะกับแผ่นทองเหลืองหรือทองแดงนั้น, หน้าแว่น ก็เรียก; ลักษณนามเรียกสิ่งกลม ๆ ที่ตัดออกตามขวางเป็นชิ้นบาง ๆ เช่น บอระเพ็ด ๗ แว่น มันเทศ ๕ แว่น; โดยปริยายหมายถึงหนังสือคู่มือ เช่น แว่นไวยากรณ์ แว่นอังกฤษ.

สำนวน

หมายถึงน. ถ้อยคำที่เรียบเรียง, โวหาร, บางทีก็ใช้ว่า สำนวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สำนวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สำนวนโวหารลุ่ม ๆ ดอน ๆ; คดี เช่น ปิดสำนวน; ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง, ถ้อยคำที่แสดงออกมาเป็นข้อความพิเศษ เฉพาะภาษาหนึ่ง ๆ เช่น สำนวนฝรั่ง สำนวนบาลี, ชั้นเชิงหรือท่วงทำนองในการแต่งหนังสือหรือพูด เช่น สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สำนวนยาขอบ สำนวนไม้ เมืองเดิม; ลักษณนามใช้เรียกข้อความหรือบทประพันธ์รายหนึ่ง ๆ เช่น อิเหนามีหลายสำนวน บทความ ๒ สำนวน.

ซอง

หมายถึงน. ซอกหรือช่องแคบ เช่น ซองหัวเรือท้ายเรือ เรียกว่า ซองเรือ; ซอกหรือช่องแคบที่ทำขึ้นสำหรับเอาช้างม้าวัวควายเข้าไปไว้ในที่บังคับ; เครื่องใช้ที่มีลักษณะแคบสำหรับสอดใส่สิ่งของ เช่น ซองธูป ซองพลู ซองจดหมาย ซองบุหรี่, ลักษณนามเรียกว่า ซอง เช่น ธูปซองหนึ่ง บุหรี่ ๒ ซอง; หน่วยของปริมาณของแท่งน้ำแข็งก้อนใหญ่ แบ่งออกได้เป็น ๔ กั๊ก; เครื่องจับปลาชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายกระบอกแต่มีปากบานกว้าง มีงาแซงใส่ ก้นมีฝาทำด้วยไม้ไผ่เจาะรูปิด; เรียกไหชนิดหนึ่ง รูปร่างสูง ๆ ปากเล็กแคบ สำหรับใส่หัวผักกาดเค็มเป็นต้น.

แหนบ

หมายถึง[แหฺนบ] น. เครื่องสำหรับถอนหนวดถอนคิ้วเป็นต้น รูปคล้ายคีมเล็ก ๆ; แผ่นเหล็กขนาดยาวต่าง ๆ กันซ้อนกัน หรือชิ้นเหล็กที่ขดเวียนเป็นวง สำหรับรับความสะเทือนหรือบังคับความเร็วเป็นต้น เช่น แหนบรถยนต์; เครื่องระลึกที่ใช้เสียบปากกระเป๋าบนของเสื้อนอก; ซองบรรจุกระสุนปืนเป็นตับ; ลักษณนามเรียกของบางอย่างเช่นซองธูปหรือใบตองที่พับ เช่น ธูปแหนบหนึ่ง ใบตอง ๒ แหนบ. ก. กิริยาที่เอาของ ๒ สิ่งหนีบอย่างแหนบ, เอานิ้วมือบีบทำนองหยิกแต่ไม่ใช้เล็บ; กิริยาที่สัตว์บางชนิดกัดไม่ถนัดหรือกัดหยอก ๆ เช่น หมาแหนบ แมวแหนบ; โดยปริยายหมายความว่า เม้มเอาไว้; เหน็บแนม, กระแหนะกระแหน, (ใช้แก่กริยาพูด).

ผูก

หมายถึงก. เอาเชือกเป็นต้นสอดคล้องกันให้เกิดเป็นเงื่อน เพื่อทำให้มั่นหรือติดต่อกันในตัวหรือกับสิ่งอื่น เช่น ผูกเชือก ผูกลวด ผูกโบ, ติดต่อหรือติดพันกันแน่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ผูกใจ ผูกโกรธ ผูกมิตร, ประกอบเข้า เช่น ผูกประโยค ผูกปริศนา ผูกลาย, ติดพันกันด้วยเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามที่ตกลงกัน เช่น ผูกตลาด ผูกท่า; คุ้มครอง (ใช้ในการเล่นหมากรุก) เช่น เอาม้าผูกโคน เอาเรือผูกม้า; ขมวด เช่น ผูกคิ้วนิ่วหน้าไม่พาที. (นิ. นรินทร์); จอง เช่น ผูกเวร; ตรงข้ามกับ แก้. น. ลักษณนามเรียกหนังสือใบลานที่ร้อยหูไว้มัดหนึ่ง ๆ ว่า คัมภีร์เทศนาผูกหนึ่ง.

น้ำ

หมายถึงน. สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนในอัตราส่วน ๑ : ๘ โดยนํ้าหนัก เมื่อบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี กลิ่น รส มีประโยชน์มาก เช่นใช้ดื่ม ชำระล้างสิ่งสกปรก, โบราณถือว่าเป็น ธาตุ ๑ ในธาตุ ๔ คือ ดิน นํ้า ไฟ ลม, ใช้เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะเป็นนํ้าหรือเหลวเหมือนนํ้า เช่น นํ้าตา นํ้าปลา นํ้าพริก นํ้าส้ม; โดยปริยายหมายถึงคุณสมบัติที่ถือว่าเป็นสาระของสิ่งที่กล่าวถึง เช่น นํ้าคำ นํ้าใจ นํ้าพักนํ้าแรง นํ้ามือ; ความแวววาว (ใช้แก่รัตนชาติ); ลักษณนามเรียกเรือที่ใช้มาแล้ว ๒ ปี ๓ ปี ว่า เรือ ๒ นํ้า เรือ ๓ นํ้า, และที่ใช้เกี่ยวกับนํ้าหมายความว่า ครั้ง เช่น ล้าง ๓ นํ้า ต้ม ๓ นํ้า. ว. มีแสงแวววาว (ใช้แก่รัตนชาติ) เช่น เพชรนํ้าหนึ่ง ทับทิมนํ้างาม.

อัน

หมายถึงน. สิ่ง, ชิ้น; ทะลาย เช่น อันหมาก อันมะพร้าว; คำบอกลักษณะสิ่งของซึ่งโดยปรกติมีลักษณะแบนยาวหรือเป็นชิ้นเป็นแผ่นเป็นต้น, ลักษณนามเรียกสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น ไม้อันหนึ่ง ไม้ ๒ อัน; เวลากำหนดสำหรับชนไก่พักหนึ่ง ๆ. ส. คำใช้แทนนามหรือข้อความที่อยู่ข้างหน้า เช่น ความจริงอันปรากฏขึ้นมา. ว. อย่าง เช่น เป็นอันมาก เป็นอันดี, ใช้เป็นคำนำหน้านามที่เป็นประธานหรือใช้ขึ้นต้นข้อความต่าง ๆ เช่น อันอายุความนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้มีกำหนดสิบปี. (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ ฉบับเก่า), ใช้ว่า อันว่า ก็มี เช่น อันว่าทรัพย์นั้น โดยนิตินัยได้แก่วัตถุมีรูปร่าง. (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘ ฉบับเก่า).

วง

หมายถึงน. รูปที่มีเส้นที่โค้งเข้ามาบรรจบกัน ล้อมรอบเป็นขอบเขตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น วงกลม วงรี, โดยปริยายหมายถึงลักษณะที่รวมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม เช่น วงราชการ วงดนตรี; ส่วนสัดของมือที่ใช้ในการรำ, คู่กับ เหลี่ยม คือ ส่วนสัดของขาที่ใช้ในการรำ; ลักษณนามใช้เรียกของที่เป็นวง เช่น แหวนวงหนึ่ง หรืออาการที่คนหลาย ๆ คนนั่งหรือยืนล้อมกันเป็นวง เช่น ไพ่วงหนึ่ง ระบำชาวไร่ ๒ วง นั่งล้อมวงกินข้าว ๓ วง หรือการเล่นที่มีคนหลาย ๆ คนร่วมกันเป็นชุดเป็นคณะ เช่น เครื่องสายวงหนึ่ง แตรวงวงหนึ่ง ดนตรี ๒ วงประชันกัน. ก. ล้อมรอบ, ทำเครื่องหมายเป็นรูปวงอย่างเอาดินสอเขียนเป็นรูปวงหมายไว้ หรือใช้ด้ายหรือเชือกอ้อมมาบรรจบกัน เช่น วงสายสิญจน์.

 คำราชาศัพท์ จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ