ค้นเจอ 213 รายการ

ถ้วย

หมายถึงน. ภาชนะก้นลึก มีรูปต่าง ๆ สำหรับใส่น้ำหรือของบริโภคเป็นต้น เช่น ถ้วยนํ้าร้อน ถ้วยนํ้าพริก ถ้วยตะไล โดยมากเป็นเครื่องเคลือบดินเผา ที่ทำด้วยแก้วหรือสิ่งอื่น ๆ ก็มี; ลักษณนามเรียกถ้วยที่ไม่มีอะไรบรรจุว่า ใบ เช่น ถ้วยใบหนึ่ง ถ้วย ๒ ใบ, เรียกถ้วยที่มีสิ่งของบรรจุว่า ถ้วย เช่น แกงถ้วยหนึ่ง แกง ๒ ถ้วย; เรียกสิ่งที่เป็นเครื่องเคลือบดินเผา เช่น กระเบื้องถ้วย ช้อนถ้วย; เรียกสิ่งของหรือสัตว์ที่มีรูปอย่างถ้วย เช่น มะเขือถ้วย แมงดาถ้วย.

กระแชง

หมายถึงน. เครื่องบังแดดฝน โดยนำใบเตยหรือใบจากเป็นต้นมาเย็บเป็นแผง, ลักษณนามว่า ผืน (เทียบมลายู กระชัง = แผงสำหรับคลุมเรือหรือรถ เย็บด้วยใบไม้); เชือกหนังสำหรับติดกับสายรัดประโคนของช้าง แต่มักติดเบื้องท้ายสันหลัง เพื่อควาญช้างจับในเวลาคับขัน; เชือกบาศสำหรับคล้องช้าง; ชื่อเรือบรรทุกชนิดหนึ่ง เล็กกว่าเรือเอี้ยมจุ๊น ท้องเรือกลมป้อม ใช้กระแชงทำเป็นประทุน เรียกว่า เรือกระแชง.

จับ

หมายถึงก. อาการที่ใช้มือแตะต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดจนกำไว้ยึดไว้; เกาะ เช่น นกจับคอน; ติด เช่น เขม่าจับก้นหม้อ; กินหรือกลืน ในความว่า คราสจับดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์; เริ่ม เช่น จับเรื่องตั้งแต่ตอนนั้นไป; เกาะกุมตัวไว้ไม่ให้หนี เช่น จับผู้ร้าย, (กฎ) เกาะกุมตัวไว้โดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย, จับกุม ก็ว่า; กิริยาที่ทำขนมจีนให้เป็นหัว ๆ เรียกว่า จับขนมจีน, ลักษณนามของขนมจีนว่า จับ หรือ หัว เช่น ขนมจีน ๕ จับ หรือ ขนมจีน ๕ หัว.

ใบ

หมายถึงน. ส่วนของพืชที่ติดอยู่กับกิ่งหรือลำต้น โดยมากมีลักษณะเป็นแผ่นแบน ๆ รูปร่างต่าง ๆ กัน มีก้านใบหรือไม่มีก็ได้ มักมีสีเขียว; สิ่งที่ทำด้วยผืนผ้าเป็นต้น สำหรับขึงที่เสากระโดงเพื่อรับลม; แผ่นเอกสารหรือหนังสือสำคัญต่าง ๆ เช่น ใบขับขี่ ใบทะเบียน; เรียกของที่เป็นแผ่น ๆ เช่น ใบหนังสือ ใบมีด ใบหู ทองใบ; ลักษณนามสำหรับใช้เรียกผลไม้ ภาชนะ เครื่องใช้บางอย่าง หรือแผ่นเอกสาร เช่น มะม่วง ๒ ใบ ถ้วย ๓ ใบ ตู้ ๔ ใบ ใบขับขี่ ๕ ใบ.

ปาก

หมายถึงน. ส่วนหนึ่งของร่างกายคนและสัตว์ อยู่ที่บริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นช่องสำหรับกินอาหารและใช้สำหรับเปล่งเสียงได้ด้วย; โดยปริยายหมายถึงส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณปาก เช่น ปากเปื่อย; ขอบช่องแห่งสิ่งต่าง ๆ เช่น ปากหม้อ ปากไห; ต้นทางสำหรับเข้าออก เช่น ปากช่อง ปากตรอก; กลีบดอกกล้วยไม้คล้ายรูปกรวยหรือหลอดที่อยู่ตรงกลางเป็นที่อยู่ของเกสร, กระเป๋า ก็เรียก; ใช้เป็นลักษณนามของสิ่งบางอย่างเช่นแหอวนหรือพยานบุคคล เช่น แหปากหนึ่ง อวน ๒ ปาก พยาน ๓ ปาก. ก. พูด เช่น ดีแต่ปาก.

โป๊ะ

หมายถึงน. ที่สำหรับดักปลาทะเล ทำด้วยเสาไม้จริงปักเป็นวง ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเฝือกกรุข้างใน มีประตูตรงกลาง ข้างประตูโป๊ะใช้เสาไม้จริงปักยาวเหยียดออกไปทั้ง ๒ ข้าง เพื่อกั้นปลาให้ว่ายเลียบเลาะมาเข้าโป๊ะ เรียกว่า ปีกโป๊ะ, ลักษณนามว่า ปาก หรือ ลูก; เรียกเรือสำหรับจับปลาในโป๊ะว่า เรือโป๊ะ; ทุ่นสำหรับเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าหรือให้คนขึ้นลง; เครื่องครอบตะเกียงเพื่อบังลมหรือบังคับแสงไฟ.

กระเบื้อง

หมายถึงน. เครื่องมุงหลังคาหรือปูพื้นเป็นต้น ทำด้วยดิน หรือวัสดุอย่างอื่น โดยปรกติเป็นแผ่น, เครื่องถ้วยชามที่ปั้นด้วยดินประสมอย่างดี เนื้อมีลักษณะแข็งและขาว เคลือบผิวเป็นมัน มีพื้นหรือลวดลายเป็นสีต่าง ๆ เรียกรวมว่า เครื่องกระเบื้อง, ชิ้นของเครื่องกระเบื้องที่แตกออก, กระทะแบน ๆ สำหรับละเลงขนมเบื้องเป็นต้น เดิมทำด้วยดินเผา แต่ปัจจุบันทำด้วยโลหะ; ลักษณนามเรียกจำนวนข้าวเม่าเป็นต้นที่คั่วครั้งหนึ่ง ๆ เช่น ข้าวเม่ากระเบื้องหนึ่ง งา ๒ กระเบื้อง.

สาย

หมายถึงน. สิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นเป็นแนวยาว เช่น สายสร้อย สายไฟฟ้า สายรุ้ง สายนาฬิกา สายเข็มขัด, ทาง, เส้นทาง, เช่น รถไฟสายเหนือ รถไฟสายใต้, โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สายการบิน สายการเดินเรือ สายงาน; ญาติที่สืบมาจากต้นวงศ์หรือต้นสกุลเดียวกัน แล้วแยกเป็นสกุลย่อยออกไป; ผู้เข้าไปสืบความลับหรือความเคลื่อนไหวเป็นต้นของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ระวังคนใช้เป็นสายให้โจร; ลักษณนามเรียกสิ่งที่เป็นแนวหรือเส้นยาวว่า สาย เช่น สายสะพาย ๒ สาย ทาง ๓ สาย.

หาง

หมายถึงน. ส่วนที่ยื่นออกจากส่วนท้ายแห่งลำตัวสัตว์, ขนสัตว์จำพวกนก เช่น กา ไก่ ที่ยื่นยาวออกทางก้น; ส่วนท้ายหรือปลาย เช่น หางเชือก หางแถว; ในราชาศัพท์เรียก ปลาช่อนว่า ปลาหาง; ลักษณนามเรียกปลาช่อนตากแห้งเช่น ปลาช่อนหางหนึ่ง ปลาช่อน ๒ หาง; เรียกดาวจรที่ส่วนท้ายมีแสงลักษณะเป็นทางยาวดุจหางว่า ดาวหาง; เรียกของที่คัดหรือกลั่นเอาส่วนที่เป็นหัวออกแล้วว่า หาง เช่น หางเหล้า หางกะทิ หางนํ้านม; ส่วนของตัวหนังสือไทยที่ลากยาวขึ้นทางเบื้องบนหรือทางเบื้องล่าง.

ตั้ง

หมายถึงก. ชูตัว, ชูตัวหรือทำให้ทรงตัวในลักษณะที่ไม่ใช่นอนหรือล้ม, เช่น ขนตั้งชัน ต้นข้าวเอนแล้วกลับตั้งขึ้น ตั้งขวด ตั้งตุ๊กตา; ทรง, ดำรง, เช่น ตั้งอยู่ในคลองธรรม ตั้งอยู่ในศีลในธรรม; ทำให้มีขึ้น, สร้างให้มีขึ้น, เช่น ตั้งตำแหน่งใหม่ ตั้งบ้านตั้งเรือน; ยกฐานะให้สูงขึ้น เช่น ตั้งพระราชาคณะ ตั้งเปรียญ; กำหนด เช่น ตั้งราคา; วาง เช่น ตั้งสำรับ; วางซ้อนกันมาก ๆ เช่น ตั้งหนังสือเป็นกองสูง; เริ่ม, เริ่มมี, เช่น ตั้งครรภ์ ตั้งเค้า ตั้งท้อง. บ. คำแสดงความหมายว่า มาก หรือ นาน เช่น เสียตั้งชั่ง ไปตั้งปี. น. ลักษณนามเรียกของที่วางซ้อนกันมาก ๆ เช่น หนังสือตั้งหนึ่ง หนังสือ ๒ ตั้ง, ครั้ง เช่น มาลองกันดูสักตั้ง.

มือ

หมายถึงน. อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่ต่อจากปลายแขนประกอบด้วยฝ่ามือและนิ้วมือ สำหรับจับเป็นต้น, เรียกสิ่งหรืออุปกรณ์บางชนิดที่มีรูปร่างอย่างมือและใช้จับแทนมือได้ เช่น มือกล มือหุ่นยนต์; เรียกผู้ร่วมเล่นการพนันบางอย่างหรือแชร์เป็นต้นว่า มือ เช่น คนหนึ่งจะเล่นกี่มือก็ได้; หนวดของไม้เลื้อยบางชนิดใช้เกาะสิ่งอื่นอย่างมือ เช่น มือตำลึง มือบวบ; ลักษณนามบอกจำนวนนับ ๕ ลูก เป็น ๑ มือ (ใช้ในเวลานับผลไม้บางชนิด เช่น มะปราง มังคุด เงาะ).

เถา

หมายถึงน. เครือไม้, ลำต้นของไม้เลื้อย; ภาชนะที่จัดเข้าเป็นชุดเดียวกันอย่างปิ่นโต, ภาชนะหรือสิ่งของในจำพวกเดียวกันที่ใหญ่ รอง และเล็ก เรียงไปตามลำดับอย่างตะลุ่มมุกหรือหม้อ, ลักษณนามเรียกภาชนะที่จัดเข้าเป็นชุดเดียวกัน เช่น ปิ่นโตเถาหนึ่ง ปิ่นโต ๒ เถา หรือเรียกภาชนะหรือสิ่งของในจำพวกเดียวกันที่ใหญ่ รอง และเล็ก เรียงไปตามลำดับ เช่น ตะลุ่มมุกเถาหนึ่ง หม้อ ๒ เถา; เพลงมโหรีปี่พาทย์ซึ่งเป็นเพลงเดียวกัน แต่มีอัตราลดหลั่นกันลงไปเป็นลำดับไม่ตํ่ากว่า ๓ ขั้น และบรรเลงติดต่อกันไปไม่ขาดระยะจนจบ เรียกว่า เพลงเถา เช่น เพลงแขกมอญ เถา เพลงราตรีประดับดาว เถา.

 คำราชาศัพท์ จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ